จุดสูงสุดของการเป็นจิตรกร ของ คัตสึชิกะ โฮกูไซ

ช่วงต่อมาของงานเขียนเป็นช่วงที่เป็นงานเขียนแบบตระกูลทาวารายะ (Tawaraya School) เมื่อโฮกูไซได้นามใหม่ว่า “ทาวารายะ โซริ” (Tawaraya Sōri) ในช่วงนี้งานที่เขียนเป็นการเขียนด้วยแปรงแบบที่เรียกว่า “ซูริโมโนะ” และภาพประกอบสำหรับ “เกียวกะ เอฮง” (kyōka ehon) ซึ่งเป็นหนังสือประกอบภาพของกวีนิพนธ์ชวนขัน ในปี ค.ศ. 1798 โฮกูไซก็มอบชื่อตนเองให้แก่ลูกศิษย์และออกไปตั้งตัวเป็นศิลปินอิสระ โดยไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนการเขียนใดใดเป็นครั้งแรก และเริ่มใช้ชื่อ “โฮกูไซ โทมิซะ”

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1800 โฮกูไซก็แปลงการเขียนภาพอูกิโยะที่นอกไปจากการเขียนภาพเหมือน และเปลี่ยนชื่อใหม่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเป็น “คัตสึชิกะ โฮกูไซ” ส่วนแรกหมายถึงบริเวณในเอโดะที่เป็นที่เกิดและส่วนที่สองแปลว่า “ห้องเขียนภาพทางเหนือ” ในปีนั้นโฮกูไซก็พิมพ์งานชุดภูมิทัศน์สองชิ้น “ทัศนียภาพอันงดงามของทางตะวันออกของเมืองหลวง” และ “ทัศนียภาพ 8 มุมของเอโดะ” ในช่วงนี้ โฮกูไซก็เริ่มมีผู้ต้องการจะมาเป็นลูกศิษย์ ในชั่วชีวิตก็มีนักเรียนถึง 50 คนที่ได้ร่ำเรียนกับโฮกูไซ[7]

นกกระยางจาก “บทเรียนการเขียนภาพง่าย ๆ”ภ่าพคนอาบน้ำใน “โฮกูไซ มังงะ

ในช่วงสิบปีต่อมาโฮกูไซก็มีชื่อเสียงมากขึ้นทุกขณะ ทั้งจากงานเขียนที่ทำและความความสามารถในการเผยแพร่ชื่อเสียงของตนเอง ระหว่างงานเทศกาลในโตเกียวในปี ค.ศ. 1804 โฮกูไซเขียนภาพพระโพธิธรรมที่กล่าวกันว่ายาวถึง 180 ฟุต (600 เมตร) โดยใช้ไม้กวาดและถังหมึกเขียน อีกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงโฮกูไซว่าได้รับเชิญโดยสำนักโชกุนอิเอนาริ ให้ไปเปรียบเทียบผลงานกับศิลปินของสำนักผู้เขียนงานด้วยแปรงที่มีลักษณะแบบดั้งเดิม งานเขียนของโฮกูไซที่เขียนต่อหน้าโชกุนเป็นงานเขียนเส้นโค้งสีน้ำเงินบนกระดาษ เสร็จแล้วโฮกูไซก็ไล่ไก่ที่ขาข้างหนึ่งจุ่มสีแดงให้วิ่งไปบนกระดาษที่เขียนเส้นไว้ โฮกูไซบรรยายต่อโชกุนว่าเป็นภาพภูมิทัศน์ของแม่น้ำทัตสึตะที่มีใบเมเปิลแดงลอยตามสายน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้โฮกูไซได้รับรางวัลในการแข่งขัน[9]

ในปี ค.ศ. 1807 โฮกูไซก็ร่วมมือกับนักเขียนนวนิยายผู้มีชื่อเสียงทากิซาวะ บากิง (Takizawa Bakin) ในการเขียนภาพประกอบในหนังสือหลายเล่ม แต่ศิลปินสองคนนี้ก็ไม่ลงรอยกันเพราะมีความคิดเห็นทางศิลปะที่ต่างกัน ซึ่งทำให้ความร่วมมือมาหยุดชะงักลงในหนังสือเล่มที่สี่ เจ้าของสำนักพิมพ์ต้องเลือกระหว่างโฮกูไซหรือบากิงไว้ทำโครงการต่อ ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็เลือกโฮกูไซ ซึ่งแสดงถึงการเน้นความสำคัญของภาพประกอบสำหรับงานพิมพ์ในยุคนั้น[10]

ในปี ค.ศ. 1811 เมื่อมีอายุได้ 51 ปีโฮกูไซก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ไทโตะ” (Taito) ซึ่งเป็นช่วงที่เขียนงานแบบที่เรียกว่า “โฮกูไซ มังงะ” (Hokusai Manga) และ “etehon” หรือตำราศิลปะต่าง ๆ[1] โฮกูไซเริ่มงานเขียนตำราในปี ค.ศ. 1812 ด้วย “บทเรียนเขียนภาพเบื้องต้น” ซึ่งเป็นงานเขียนเพื่อหาเงินและหาลูกศิษย์เพิ่มเติม หนังสือ “มังงะ” เล่มแรกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1814 ต่อมาก็มีอีก 12 เล่มที่ตีพิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 1820 และอีกสามเล่มที่พิมพ์หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่รวบรวมภาพเขียนเป็นจำนวนพันของสัตว์, บุคคลในศาสนา และบุคคลทั่วไป ที่มักจะแซกอารมณ์ขัน และเป็นงานที่นิยมกันแพร่หลายในยุคนั้น[10]

ในปี ค.ศ. 1820 โฮกูไซก็เปลี่ยนชื่ออีกเป็น “อีตสึ” (Iitsu) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความมั่นคงในฐานะจิตรกรไปทั่วญี่ปุ่น (ในขณะนั้นเป็นสมัยญี่ปุ่นปิดประเทศ (Sakoku) จากโลกภาพนอก ฉะนั้นชื่อเสียงของโฮกูไซจึงมิได้เป็นที่เลื่องลือไปยังโลกตะวันตกจนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว) โฮกูไซมามีชื่อเสียงถึงจุดสุดยอดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820 งานเขียนชุดสำคัญ “ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ” ที่รวมทั้งภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” ก็เป็นงานที่เขียนในช่วงที่ว่านี้ และเป็นที่นิยมจนกระทั่งโฮกูไซตัดสินใจเพิ่มภาพอีกสิบภาพเข้าไปในชุด ภาพชุดอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมที่พิมพ์ในช่วงนี้ก็ได้แก่ชุด “การเที่ยวชมน้ำตกในจังหวัดต่าง ๆ” และชุด “ทัศนียภาพที่แตกต่างของสะพานอันงดงามของจังหวัดต่าง ๆ”[11] นอกจากนั้นแล้วโฮกูไซก็ยังผลิตก็ยังเขียนงานดอกไม้และนกแบบที่มีรายละเอียดอีกหลายภาพ ที่รวมทั้งภาพที่เด่นชื่อ “ดอกฝิ่น” และ “ฝูงไก่”[12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: คัตสึชิกะ โฮกูไซ http://www.book-navi.com/hokusai/hokusai-e.html http://www.book-navi.com/hokusai/link-e.html http://visipix.dynalias.com/search/search.php?q=ho... http://www.hokusai-drawings.com/ http://www.spideronthefloor.com/jordan http://www.touchandturn.com/hokusai/default.asp?la... http://www.csuchico.edu/art/contrapposto/contrappo... http://digitalmuseum.rekibun.or.jp/app/selected/ed... http://lambiek.net/artists/h/hokusai.htm http://web.archive.org/web/20021108104201/http://w...